ข้าพระพุทธเจ้าน้อมถวายพระพรชัย ขอพระเกียรติเกริกไกรทุกสถาน ดวงพระราชหฤทัยสุขสราญ "หมู่ภัยพาลแพ้พ่าย" ระบารมี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ


วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


พระบรมฉายาลักษณ์นี้  เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ เวลา ๑๖.๒๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการพระราชพิธีพืชมงคล เสด็จ ฯ ขึ้นสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปสำคัญ พระราชาคณะถวายศีลจบแล้ว ทรงพระสุหร่ายถวายดอกไม้บูชาพระพุทธคันธารราษฎร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผล ของราชอาณาจักรไทยแล้ว พระราชครูวามเทพมุนีฯ หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคลพระสงฆ์ ๑๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์จบ ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิมพระราชทาน นายแสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตร และเทพีผู้จะแรกนาขวัญ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรกออกจากพระอุโบสถ เสด็จพระราชดำเนินกลับ



สำหรับปี ๒๕๕๖ นี้ ปฏิทินหลวงกำหนดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน

คือพระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๑๒ พ.ค.เวลา ๑๗.๐๐ น.

กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง


ประวัติพระราชพิธีมงคลจรดพนังคัลแรกนาขวัญ


พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่งซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น



ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพหลเทพคู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า 


"การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่า มากไปน้อยไปด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิและมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลังจึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้างให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของพิธีแรกนาอยู่ที่จะทำให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรเพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา แม้จะเป็นความจำเป็นสำหรับบ้านเมืองในสมัยโบราณอย่างไรถึงปัจจุบันนี้คงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้นเป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย 

ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ ๓ อย่าง โดย ๒ อย่างแรกที่ว่า "อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง” นั้น ทรงหมายถึงพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง” นั้น ทรงหมายถึง พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์



พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น


การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณี ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วก็ว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟู พระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระประมุขปัจจุบันทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด

เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรกนั้นพระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทองและคู่หาบเงินนั้น ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป




พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือบุพพัณณะ หรือบุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่น ๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึง พืชจำพวกถั่วงา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือกมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆ รวม ๔๐ อย่างแต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาวกับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านใน พระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้



อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธี พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ : เวปสำนักข่าวเจ้าพระยา http://www.chaoprayanews.com/2013/05/13/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A5/
เวปผู้จัดการOnline http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000057022