ข้าพระพุทธเจ้าน้อมถวายพระพรชัย ขอพระเกียรติเกริกไกรทุกสถาน ดวงพระราชหฤทัยสุขสราญ "หมู่ภัยพาลแพ้พ่าย" ระบารมี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ


วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา (๘๖ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖)

 

เนื่ิิิองในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ 
 "มหาราชา คู่ฟ้าไทย" 

เป็นวันสำคัญยิ่งสำหรับเหล่าพสกนิกรชาวไทยที่จะได้ถวายความจงรักภักดีแด่
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

ล้นเกล้าล้นกระหม่อม ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง
ต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ 


ออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกนี้ 
โปรดดลบันดาลประทานพระพรชัยมงคลให้
....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.... 
พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย  ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 
เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรของปวงชนชาวไทยตลอดไป 
ขอราชวงศ์จักรีสถิตสถาพรสืบรัชสมัยตราบนานเท่านานเทอญ 
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ



ส.ค.ส. พระราชทาน พรยิ่งใหญ่จากในหลวง

ส.ค.ส. พระราชทาน "พรยิ่งใหญ่และมีคุณค่า"
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



อีกไม่นาน นาทีแห่งการเฉลิมฉลองความสุขเพื่อต้อนรับวันเวลาแห่งศักราชใหม่จะ เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางความชื่นชมยินดีของผู้คนทุกเชื้อชาติและภาษาในทั่วทุกมุมโลก เสียงสะท้อนอันแสดงให้เห็นถึงความสุขดังกล่าวไม่เพียงแต่จะปรากฎออกมาในรูปแบบของการมอบของขวัญล้ำค่าให้แก่บุคคลอันเป็นที่รัก การนัดหมายคนรู้ใจมาร่วมดื่มฉลองในงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือการเดินทางไปเยี่ยมเยือนญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ห่างไกล อันล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่นำมาซึ่งความสุขของทุกคนเท่านั้น

แต่ยังหมายรวมถึงความตื่นเต้นดีใจกับการที่เราจะได้ก้าวไปสู่ช่วงเวลาแห่งปีใหม่ ได้พบกับสิ่งใหม่ ๆ ที่คาดหวังไว้ว่าจะต้องดียิ่งขึ้นกว่าปีเก่าอีกด้วย พรปีใหม่ที่ได้รับจากบุคคลหลายคนที่เรารู้จักนับถือทุกๆ ปี นับเป็นสิ่งล้ำค่าที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใดล้วนปรารถนาจะได้รับ เพราะนั่นหมายถึง การนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและผู้ใกล้ชิดตลอดไปทั้งปีนี้และภายภาคหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไทยแล้ว พรสูงสุดเนื่องในโอกาสปีใหม่คงไม่มีถ้อยคำใดจะยิ่งใหญ่ และ มากคุณค่านำความปลาบปลื้มยินดีมาสู่ชีวิตและจิตใจได้เท่า "พรพระราชทานปีใหม่แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

ทุกๆ ปี นอกจากกระแสพระราชดำรัสอวยพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย จะนำมาซึ่งความปีติยินดีเป็นล้นพ้น แก่พสกนิกรชาวไทยทุกคนแล้ว บัตรส่งความสุข หรือ ส.ค.ส. ที่ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ประดิษฐ์ขึ้น และพระราชทานแก่ชาวไทยในคราเดียวกัน ก็นับเป็นสิ่งสูงค่า ที่ยังความซาบซึ้งใจมาสู่ปวงชนชาวไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทั้งนี้แต่ละปีของปีใหม่ วันปีใหม่ ในหลวงจะพระราชทานพร ปีใหม่ และทางสำนักพระราชวังจะนำภาพพระราชทานจัดทำเป็น การ์ดอวยพร หรือ ส.ค.ส. มอบเป็น ของขวัญปีใหม่ แก่ประชาชนทั้งประเทศ 



บทความ เกี่ยวกับ ส.ค.ส. พระราชทาน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวถึง กำเนิด ส.ค.ส. พระราชทานฉบับแรก พร้อมบอกเล่าถึง รูปแบบ ความหมาย คุณค่าที่สอดแทรกอยู่ใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปีว่า 

ส.ค.ส. พระราชทานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม ๒๕๒๙ ซึ่งเป็น ส.ค.ส. พระราชทานสำหรับปี ๒๕๓๐ โดยมีเนื้อความว่า

…ถึงเจ้าหน้าที่ และสมาชิกผู้เกี่ยวข้อง กส.9 ขอขอบใจทุกคน และถือโอกาสอวยพรปีใหม่ ด้วยถ้อยคำต่าง ๆ ให้พิจารณา ดังต่อไปนี้

                          เห็นตรง      หมั่นเพียร   แจ้งสว่าง 

                          พูดไพเราะ งามสุจริต    สวยงาม
                          จิตมั่นคง    คิดดีสงบ    ร่มเย็น
                          เป็นทางขจัดทุกข์โศก บรรลุความสุกความเจริญ

                          กส.9 ปรุง. 311430 ธ.ค. 2529

ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. ฉบับแรกนี้มีใจความสั้น บริเวณรอบๆ ส.ค.ส. ไม่มีการตกแต่งลวดลายใดๆ โดยแรกเริ่ม ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ ได้พระราชทานให้แก่เฉพาะหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรง Print ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยทั่วถึงกัน

นับแต่นั้นมาพระองค์ก็ได้พระราชทานเรื่อยมาโดยทุกข้อความและถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปี จะประมวลขึ้นจากสภาพเหตุการณ์บ้านเมือง โดยมุมหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ที่ประเทศชาติต้องประสบในรอบระยะ ๑ ปีที่ผ่านมา 

ซึ่งถึงแม้ว่าคำอวยพรดังกล่าวจะเป็นเพียงถ้อยคำสั้นๆ แต่ก็มากด้วยคุณค่า ความหมาย และคติเตือนใจที่มุ่งเน้นในการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยมีขวัญ กำลังใจ ต่อสู้ และฝ่าฟันอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าอย่างไม่ย่อท้อ

สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส. พระราชทาน นับจากปีแรกซึ่งยังไม่มีการตกแต่งลวดลาย ใดๆ เรื่อยมาจนถึงช่วงระหว่างปี ๒๕๓๒-๒๕๓๗ ได้เริ่มมีการประดับประดาเป็นรูปทรง ส.ค.ส. มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลวดลายเส้นตรง เส้นเฉียง รูปดาวต่างๆ เก๋ไก๋ จนกระทั่งปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ลวดลายที่ปรากฏจะยากขึ้นตามลำดับ มีภาพเครื่องดนตรีหลากชนิด ภาพหัวใจ ภาพประกอบในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากฝีพระหัตถ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสิ้น 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ส.ค.ส. พระราชทานทุกปี ล้วนมีความหมายลึกซึ้งซ่อนอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงจากข้อความ จากลวดลาย หรือแม้กระทั่งสีสันที่ปรากฏ ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ส.ค.ส. ที่พระองค์พระราชทานในแต่ละปี ล้วนเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ได้แสดงทรรศนะถึงความตั้งพระราชหฤทัยในการจัดทำ ส.ค.ส. ด้วยสีดังกล่าวตลอดปีที่ ผ่านมาว่า

"เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการสะท้อนให้ลูกหลานไทยได้เห็นถึงตัวอย่างของความประหยัด มัธยัสถ์ สิ่งของหลายๆ สิ่ง แม้จะไม่มีสีสันดึงดูดตา แต่ก็มากมายด้วยความหมาย พระองค์พยายามทำทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์ตลอดเวลา ทรงรักความเรียบง่าย ยึดมั่นในความหมาย และคุณค่า ของสรรพสิ่งเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองกันที่ความสวยงาม ฟุ้งเฟ้อ"

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่พระองค์เสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลราชสมบัติ เป็นองค์ประมุขปกครองแผ่นดินสยาม ทรงไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ไม่ว่าชาติบ้านเมืองจะเกิดวิกฤติใดๆ พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสเตือนสติปวงชนชาวไทยในโอกาสสำคัญเสมอๆ เฉกเช่นเดียวกับพรพระราชทานปีใหม่ในแต่ละปี ที่เปรียบประดุจน้ำทิพย์ชโลมใจเหล่าข้าพสกนิกรให้ดำรงตนอยู่ในความดี มีความรอบคอบ และทำหน้าที่ของตนให้เกิดประโยชน์ ต่อสังคมและประเทศชาติส่วนรวมอย่างแท้จริง พรใดๆ ในโลกนี้ จึงไม่มีสิ่งใดเปรียบเท่าพรพระราชทานแห่งองค์พระเจ้าแผ่นดินไทยอีกแล้ว

(ศิริรัตน์ สาโพธิ์สิงห์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

ส.ค.ส พระราชทาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๕๔
ส.ค.ส. พระราชทาน เป็นบัตรส่งความสุข ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี (ยกเว้น พ.ศ. ๒๕๔๘)

ในวันสิ้นปี (๓๑ ธันวาคม) ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพร เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี นอกจากนี้ ยังทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจมาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน โดยทรงใช้ รหัสแทนพระองค์ว่า กส.9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสารทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า กส.9 

ปรุ ส.ค.ส.พระราชทานที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ 

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส.พระราชทานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรสาร (แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปีจะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา 

ในปีต่อๆ มา หนังสือพิมพ์รายวันได้นำลงตีพิมพ์ในฉบับเช้าวันที่ ๑ มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง

นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน เป็น ก.ส.9 ปรุง เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ "ปรุ" ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ "ปรุง" ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้นจะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ ดังนี้

ววชชนน ดด ปปปป 

เมื่๋อ ว=วันที่ ช=เวลาเป็นชั่วโมง น=เวลาเป็นนาที ด=เดือน และ ป=ปี

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ส.ค.ส.ปี ๒๕๔๙ เป็นภาพสี นอกจากนี้ คำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน ตั้งแต่ปีดังกล่าวเป็นต้นมา จะมีข้อความ "พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad, D.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี ๒๕๔๙) และ "Printed at the Suvarnnachad Publishing, C.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี ๒๕๕๐)
ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๐
พระราชทานเป็นปีแรก ทรงยังใช้คำว่า กส.9 ปรุ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๑
ทรงสอนให้ทุกคนคิดและทำในสิ่งที่ดี 
เพื่อให้บังเกิดแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๒
ทรงให้นิยาม ๔ ประการของความสุขว่า
คือความปรารถนาดีต่อกัน ความอนุเคราะห์ ความยินดี ความสงบ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๓
ทรงให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีสติ และปัญญา

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๔
ทรงชี้ให้คนไทยใช้ความเพียร อดทน สติ และปัญญา

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๕
ทรงให้คนไทยมุ่งทำวันนี้ให้ดีที่สุด

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๖
ทรงเน้นเรื่องการมองปัญหาให้ชัดเจนและตรงจุด
การมีสติ คิดและทำ อย่างสร้างสรรค์


ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๗
ทรงกล่าวถึงโครงการพระราชดำริ
เพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ในกรุงเทพมหานคร

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๘
ทรงให้ข้อคิดในการร่วมมือกันทำงาน เกี่ยวกับการพูด การฟัง

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๓๙
ทรงให้คนไทยตั้งมั่นอยู่ในความสมดุลในการแก้ปัญหา 
และการประสานประโยชน์เพื่อประเทศชาติ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๐
ทรงกล่าวถึงพลังความคิด และให้คติในการพูด การคิด และการทำ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๑
ทรงพระราชทานกำลังใจ ในการต่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๒

ทรงให้คนไทยมีความเพียร เช่นเดียวกับพระมหาชนก
และทรงเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๓
ทรงกล่าวถึงการเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ และให้มองโลกในแง่ดี

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี๒๕๔๔
ทรงให้ทบทวนบทเรียนจากอดีต เพื่อเตรียมตัวฟันฝ่าปัญหาในอนาคต 
และตั้งมั่นอยู่ในความดี และความสุจริตใจ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๕
ทรงกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขากัน 
และให้แก้ปัญหาโดยใช้หัว คือสมอง 
ควบคุมทุกส่วนของตัว รวมทั้งขา ให้อยู่ในระเบียบ

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๖
ทรงกล่าวถึงสุนัขทรงเลี้ยงว่าเป็นเพื่อนที่ดี

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๗
ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก 
ภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
ทรงให้คนไทยมีความรักสามัคคีกัน

- ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ (ไม่มี ส.ค.ส. พระราชทาน) -

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ไม่มี ส.ค.ส. พระราชทาน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เนื่องจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งนายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์จะพระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวันปีใหม่ ซึ่งหลังจากที่พระองค์พระราชทานเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสว่า ปีใหม่ปีนี้ไม่ ส.ค.ส. พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงทำงานอย่างหนักในการให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวใต้ที่ได้รับความเดือดร้อน

นายขวัญแก้วกล่าวอีกว่า นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตรัสอีกว่า พระองค์ทรงรู้สึกปลื้มใจที่คนไทยไม่ทิ้งกัน เวลาเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกัน เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ซึ่งการที่คนไทยได้ช่วยเหลือกันครั้งนี้ เหมือนเป็นหลักประกันให้พระองค์ว่า เมื่อไรที่พระองค์เดือดร้อนก็จะมีคนมาช่วย สิ่งที่ทุกคนทำผลบุญก็จะส่งให้กับผู้ที่ให้การช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนด้วย ซึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า ทรงปลื้มใจคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือทุกคน ไม่รังเกียจว่าเป็นคนชนชาติไหน

 ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๔๙
เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สีเขียว 
มีภาพปักรูปคุณทองแดงที่กระเป๋าด้านซ้าย ทรงฉายคู่กับคุณทองแดง
 ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๕๐
เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ทรงฉายคู่กับคุณทองแดง และสุนัขทรงเลี้ยง 
ที่เป็นเหลนของคุณทองแดงอีก ๙ สุนัข
 ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๕๑
เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ในฉลองพระองค์ชุดปกติขาว ทรงฉายคู่กับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง 
ที่เป็นเหลนของคุณทองแดงอีก ๔ สุนัข

 ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๕๒

ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สากลสีน้ำตาลอ่อน ผ้าปักพระกระเป๋าสีฟ้าสดใส ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนคไทสีฟ้าอ่อน ประทับบนพระเก้าอี้ ทรงฉายกับคุณทองแดง สุวรรณชาด ที่นั่งอยู่ข้างพระเก้าอี้ และคุณนายแดง แม่ของคุณทองแดง ที่หมอบเฝ้าอยู่อีกข้างหนึ่ง



ฉากหลังของ ส.ค.ส. เป็นสนามหญ้าในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีต้นไม้ใหญ่ และต้นชวนชมดอกสีชมพู มุมบนด้านซ้าย มีตราสัญญลักษณ์ 2 ตรา คือ ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ และผอบทอง ระหว่างตราสัญญลักษณ์ทั้งสอง มีตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีเหลืองว่า ส.ค.ส. ๒๕๕๒ ใต้ลงมามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2009 

มุมบนด้านขวา มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีเหลืองว่า สวัสดีปีใหม่ ขอจงมี…ความสุข…ความเจริญ ด้านล่างขวา มีตัวเลขสีแดง ระบุวันเดือนปีที่ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ว่า 2008 12 17 / 17 : 11 

กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพหน้าคนเล็กๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้า มีแต่รอยยิ้ม

นกรอบด้านล่าง มีข้อความ ก.ส. 9 ปรุง 192231 ธค. 51 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing , D Bramaputra, Publisher 

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่และ ส.ค.ส.พระราชทาน ปี ๒๕๕๒ แก่ปวงชนชาวไทยนั้น คุณทองแดง สุวรรณชาด ได้หมอบเฝ้าอยู่แทบพระบาทหลังพระเก้าอี้ตลอดเวลา 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๒ 
แก่ประชาชนชาวไทย ความว่า

“ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ เป็นเวลาที่เราควรระลึกถึงกัน และอวยพรแก่กันด้วยความปรารถนาดี 

ก่อนอื่น ข้าพเจ้าต้องขอขอบใจทุกท่านเป็นอย่างมาก ที่ร่วมกันจัดงานพระศพพี่สาวข้าพเจ้าอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ทั้งอุตสาหะมาร่วมในงานเมื่อเดือนพฤศจิกายนด้วยใจภักดีและระลึกถึง กับขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คนให้มีความสุขความเจริญ 

ความสุขความเจริญนี้ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนายิ่งของคนเรา แต่ความสุขความเจริญนั้นจะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยการที่ทุกคนตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติรู้ตัว และปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติการใด ก็ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองจนถ้วนถี่ ให้เห็นกระจ่างถึงผลดี ผลเสีย ทั้งใกล้ไกล ทุกแง่ทุกมุม ความรู้ความเข้าใจชัดถึงผลดีผลเสีย ย่อมจะทำให้แต่ละคนเล็งเห็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรละเว้น และสิ่งใดควรปฏิบัติ เพื่อให้บังเกิดผลเป็นประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืน ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม 

ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทยตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท จะคิดจะทำสิ่งใด ให้คิดหน้าคิดหลังให้ดี ให้รอบคอบ ทำให้ดี ให้ถูกต้อง ผลของการคิดดีทำดีนั้น จะได้ส่งเสริมให้แต่ละคนประสบแต่ความสุขความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมืองมีความเรียบร้อย และอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่ทุกคนทุกฝ่ายตั้งใจปรารถนา 

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเราเคารพบูชา จงอภิบาลรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรค ปราศจากภัยให้มีความสุขกายสุขใจ และความสำเร็จสมหวัง ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน”

 ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๕๓
เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์แจ๊คเก็ตสีชมพูเข้ม ปักรูปคุณทองแดงที่ด้านซ้ายของพระอุระ ทับฉลองพระองค์ชั้นในสีขาว ประทับบนพระเก้าอี้หวาย ที่ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าและสวนดอกไม้ทรงฉายกับคุณทองแดงและคุณทองหลาง สุนัขทรงเลี้ยงที่นั่งเฝ้าอยู่ข้างพระเก้าอี้ทั้งสองด้าน


ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๕๔

ส.ค.ส.พระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สากลสีครีม ผ้าปักพระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนคไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้าง มีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลากสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้วขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน 

ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือคุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวา และคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย 

ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบและดอกไฮเดรนเยียหลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกันด้านซ้ายมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ ส่วนแจกันด้านขวามีผอบทอง ประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้านมีกระถางไม้ประดับตั้งอยู่

มุมบนด้านซ้าย มีตัวอักษรสีเหลืองข้อความว่า ส.ค.ส. สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011 ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส. 9 ปรุง 121923 ธ.ค.53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing , D Bramaputra , Publisher

กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆ เรียงกันด้านละ ๓ แถว ทุกหน้า มีแต่รอยยิ้ม

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔
วันศุกร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
(ฉบับไม่เป็นทางการ)

"ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพรแก่ทุกท่านทุกๆ คน ให้มีความสำเร็จสมประสงค์ ในสิ่งที่ปรารถนา ความปรารถนาของทุกคน 

คงไม่แตกต่างกันนัก คือ ต้องการให้ตนเองมีความสุขความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะเห็นคนไทยมีความสุขถ้วนหน้ากันด้วยการให้ คือให้ความรักความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัยกัน ให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์ และจริงใจ 

ทุกคน ทุกฝ่าย จะได้สามารถร่วมมือ ร่วมความคิดอ่านกัน สร้างสรรค์ความสุข ความเจริญมั่นคง ให้แก่ตน แก่ประเทศชาติ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการให้สำเร็จผล ได้ดังที่ตั้งใจปรารถนา 

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน"

ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวง ปี ๒๕๕๕


ส.ค.ส.พระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในปีพุทธศักราช 2555 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฉลองพระองค์สากลสีเทาลายริ้วสีอ่อน ปกด้านซ้ายทรงประดับเข็มเครื่องหมายมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มูลนิธิที่พระราชทานกำเนิดและทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภก ทรงผูกเนคไทสีแดงลวดลายสีทอง เข้าชุดกับผ้าปักพระกระเป๋า ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ประทับบนเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้าง มีโต๊ะกลม โต๊ะด้านขวาวางแจกันขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสี ทรงฉายร่วมกับสุนัขทรงเลี้ยง คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 สวมเสื้อสีทอง หมอบอยู่แทบพระบาท หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย

ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับตกแต่งเป็นสวนดอกไม้ประดับ ด้านซ้ายมีระแนงไม้สีขาว ประดับอักษรชมพู ข้อความภาษาไทยว่า สวัสดีปีใหม่ และข้อความภาษาอังกฤษ ว่า Happy New Year ด้านขวามีต้นสนประดับเครื่องตกแต่ง ฉากหลัง เป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน ด้านซ้ายบน มีตราพระมาหพิชัยมงกุฎประดับ ส่วนด้านขวามมีผอบทองประดับ

ตรงกลาง ส.ค.ส. ด้านขวา มีข้อความจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งเป็นคำตอบที่พระมหาชนกทรงตอบนางมณีเมขลาว่า "ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่าย อยู่ท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลาย มิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น" ทรงเตือนสติให้คนไทยทั้งหลายมีความเพียร เช่นเดียวกับพระมหาชนก ที่ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร จนรอดชีวิต ประโยชน์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจาการกระทำ ไม่ได้เกิดจากแค่เพียงความคิด

ตรงกลาง ส.ค.ส. ด้านซ้าย มีข้อความภาษาไทยพิมพ์ด้วยสีชมพูขอบสีเหลืองว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ ๒๕๕๕ และ ข้อความภาษาอังกฤษพิมพ์ด้วยสีแดงขอบสีเหลืองว่า Happy New Year 2012

ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส. 9 ปรุง 185029 ธค.54 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing , D Bramaputra , Publisher

กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ส่วนด้านบนและด้านล่างเรียงกันด้านละ 2 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม



ส.ค.ส. สยามใบแรก



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก: เวปไซด์วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/
เวปไซด์เครือข่ายกาญจนาภิเษก http://kanchanapisek.or.th/

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ


ประวัติวันแม่

          
แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุน จนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป

          มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความ สำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวัน แม่ของชาติ

          ต่อมาถึง พ.ศ. 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ

1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

2. จัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ

3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่

4. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่



การจัดงานวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย

          งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน

          ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ 

 สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่

        สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย 

คำขวัญวันเเม่ ประจำปี พ.ศ. 2556

คำขวัญวันแม่ 2556 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติปี 2556 แล้ว

วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญที่คนไทยทุกคนรู้กันดีว่า ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถือเป็น "วันแม่แห่งชาติ" ของประเทศไทยที่ทุกคนให้ความสำคัญ ซึ่งนับตั้งแต่วันแม่แห่งชาติเมื่อปี 2544 เป็นต้นมา ก็จะมีการตั้งคำขวัญประจำวันแม่แห่งชาติ เพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อมารดา

และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่วันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติแก่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจะนำไปเผยแพร่เทิดพระคุณแม่ทั่วประเทศ


โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2556 เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ปี 2556 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความว่า 

"คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่ คือคำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น 
จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี"

โดยคำขวัญวันแม่แห่งชาติประจำปีต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2556

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2556 ความว่า

"คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่ คือคำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2555

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2555 ความว่า

"มือของแม่นั้น คือ มือช่างปั้น ขึ้นรูปอันอ่อนลออจนหล่อเหลาอยากให้เป็นงานดีที่งามเงาอยู่ที่คอยขัดเกลาแต่เบามือ"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2554

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2554 ความว่า

"เพลงชาติไทยเตือนไทยไว้เช้าค่ำ ให้จดจำจารึกใจไว้ทุกส่วน จะดำรงคงไทยได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2553

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2553 ความว่า

"แผ่นดินนี้แม่ของลูกใช้ปลูกข้าว กี่แสนก้าวที่เดินซ้ำย่ำหว่านไถ บำรุงดินจนอุดมสมดังใจ หวังนาไทยเป็นของไทยไปนิรันดร์"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2552
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2552 ความว่า

"แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้าง เคยทอดร่างลงถมถิ่นแผ่นดินแม่ ขอลูกไทยรักษามั่นไม่ผันแปร เป็นไทยแท้มิใช่ไทยแต่ในนาม"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2551

"เมื่อเกิดมาอาศัยถิ่นแผ่นดินไหน ควรมีใจกตัญญูรู้คุณถิ่น หากคนไทยรู้ตอบแทนคุณแผ่นดิน จักไม่มีวันสิ้นแผ่นดินไทย"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2550

"ข้าวในนาปลาในน้ำคำโบราณ คือตำนานความอุดมสมบูรณ์สิน ฝากลูกไทยร่วมห่วงแหนรักแผ่นดิน ถนอมไว้อย่าให้สิ้นแผ่นดินไทย"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2549

"รักในหลวงพร้อมใจใส่เสื้อเหลือง รักบ้านเมืองจงน้อมใจให้สร้างสรรค์ ใส่สีเดียวแล้วใจเดียวกลมเกลียวกัน รักเช่นนั้นชาติของตนจึงพ้นภัย"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2548

"ดุจดังแม่ผู้ประเสริฐบังเกิดเกล้า เลี้ยงเราทุกคนมาจนใหญ่ ทุกคำข้าวคือสินแผ่นดินไทย ควรตรองใจทดแทนคุณแผ่นดิน"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2547

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติปีนี้ความว่า

"แม่คือผู้ให้ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดใด นอกจากความรักความเข้าใจจากลูก"

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติปีนี้ความว่า

"แม่ไม่อาจอยู่กับลูกได้ชั่วชีวิต ควรสอนให้เขารู้จักคิดและเลือกปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2546

"สามร้อยหกสิบห้าวันคือวันแม่ มิใช่แค่วันใดให้นึกถึงสม่ำเสมอสมัครจิตคิดคำนึง เหมือนแม่ซึ่งรักลูกครบทุกวัน"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2545

"แม่คือพระประจำอยู่ในบ้าน บูชาท่านไว้เถิดเกิดมิ่งขวัญ พระคุณแม่เลิศล้ำเกินรำพัน แม่จึงเป็นคนสำคัญทุกวันไป"

คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2544

"พระองค์แรกผู้แสนดีให้ชีวิต ครูคนแรกผู้ประสิทธิ์การศึกษา สองหัตถ์โอบนคราพาร่มเย็น รวมคุณค่านี้ได้แก่แม่เราเอง"

 เพลงที่ใช้ในวันเเม่

          ค่าน้ำนม คือ เพลงอย่างเป็นทางการที่ใช้ในงานวันเเม่เเห่งชาติ เเต่งขึ้นโดย อาจารย์ สมยศ ทัศนพันธ์ ได้เรียบเรียงบทเพลงที่เรียกได้ว่า ขึ้นหิ้งอมตะ และเป็นงานเพลงชิ้นเอก ซึ่งได้ฟังเมื่อไร เป็นต้องหวนระลึกถึงบุญคุณของเเม่เเละวันคืนเก่าๆ ของวิถีไทยในสมัยก่อน

          เนื้อเพลง นอกจากจะให้เราระลึกถึงพระคุณเเม่เเล้วยังทำให้เรามองเห็นขนบดั้งเดิมตามวิถีไทย หลายอย่างจากเนื้อเพลง เช่นการศึกษาของผู้ชายไทยสมัยก่อนนั้น มักจะอยู่ในวัดวาอาราม ซึ่งเป็นแหล่งสอนสั่งความรู้ ทางโลก อ่านออกเขียนได้ และ ทางธรรม อันได้แก่ การถือศีล และยิดมั่นในพระรัตนไตร นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อกันอีกว่า หากลูกชายบ้านใหน ได้บวชเรียน ก็จะส่งแผ่ อานิสงค์ไปให้กับพ่อแม่ ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสู่ที่ดีๆ เมื่อถึงกาลแตกดับ

          ท่วงทำนองเสนาะโสต และ ทุ่มเย็น กับคำร้องที่ตรงไป ตรงมา ชวนให้นึกภาพตามได้ไม่ยาก แม้แต่เด็กเล็กๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครฟังเพลงนี้แล้วจะต้องหลั่งน้ำตาให้กับความซาบซึ้งแห่งรักที่แม่ มีให้เรา... 
 เนื้อเพลง ค่าน้ำนม
      
แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง
ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล
แม่เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปล
ไม่ห่างหันเหไปจนไกล

แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม
แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ
เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไร
มิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม

ควรคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม
โอ้ว่าแม่จ๋าลูกคิดถึงค่าน้ำนม
เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน

ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง
แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน
บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น 
หยดหนึ่งน้ำนมกิน
ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย  

 มาฟังเพลงค่าน้ำนมกันค่ะ 

วันแม่ที่แท้จริงคือทุกๆ วัน ทุกๆ ชั่วโมง ทุกๆ นาที และทุกๆ ลมหายใจ ที่ลูกๆ น่าจะรู้ซึ้งแก่ใจว่าแม่ไม่เคยหยุดรักหยุดห่วงใยลูกเลยแม้แต่เสี้ยววินาที







ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล: เว็บกระปุกดอทคอม http://hilight.kapook.com/view/842

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ - ๑๒ สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ

 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
๑๒ สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ
ทรงเป็นแม่ในดวงใจไทยทั้งชาติ


 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระราหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ขณะนั้น เป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร


หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้อง ทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ ไป รับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหม่อมหลวงบัว ยังคงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้ กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้วจึงเดินทางไป สมทบมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้ อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศา นุประพันธ์และ ท้าววนิดา พิจาริณี ผู้เป็นบิดาและ มารดาของหม่อมหลวงบัว

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต้องอยู่ห่างไกลพระบิดามารดาตั้งแต่อายุพียงน้อยนิด บางคราวต้องระหกระเหินไป ต่างจังหวัดกับพระบรมวงศานุวงศ์ตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไป สงขลาด้วย


ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ หม่อมจ้านักขัตรมงคล ทรงลาออกจากราชการ กลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว อันมีหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์บุตรคนโตและ หม่อมราชวงศ์บุษบาบุตรีคนเล็กผู้เกิดที่สหรัฐอเมริกาแล้วมารับหม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์บุตรคนรอง กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จากหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กลับมาอยู่รวมกันที่ตำหนักซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาดในพุทธศักราช ๒๔๗๙ แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมาถึงประเทศไทย จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศบ่อย ๆ ทำให้ การเดินทางไม่สะดวกและ ปลอดภัย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จึงต้องย้ายไป โรงเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ และ ในเวลาต่อมาได้ตั้งใจที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง


หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เผชิญสภาพของสงครามโลกเช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย พระบิดาผู้ ทรงเป็นทหารเป็นผู้ปลูกฝังให้ บุตร และ บุตรีรู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ และ ความเสียสละ โดยอาศัยเหตุการณ์ในสงครามเป็นตัวอย่าง และ สงครามก็ทำให้ ผู้คนต้องหันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยากสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความเมตตาต่อผู้อื่น และ รักความมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่เยาว์วัย

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ นายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นรัฐทูตวิสามัญและ อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึง ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไป ด้วยในกลางปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว



ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตั้งใจเรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่อยู่อังกฤษได้ไม่นานหม่อมเจ้านักขัตร มงคลก็ ทรงย้ายไป ประเทศเดนมาร์กและ ประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส

พุทธศักราช ๒๔๙๑ ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและ ครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไป ทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยต่อพระยุคลบาทและ ต้องพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมหลวงบัวพาบุตรีทั้งสง คือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และ หม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ในโรงเรียนประจำ Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และ ประวัติศาสตร์



ต่อมาอีก ๑ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและ ครอบครัวมาเฝ้าฯ แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล และ ประกอบพระราชพิธีหมั้นอย่างเงียบ ๆ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดา ทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนี เป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วคงให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไป จนเสด็จนิวัตพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และ เทพมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และ ในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินี

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” 


วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์ผู้รักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลแนะนำให้ ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง พุทธศักราช ๒๔๙๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน ทั้งสามพระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งต่อมา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งต่อมา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้ประสูติต่อมาตามลำดับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมพระราชโอรสและ พระราชธิดา ๔ พระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นลำดับมา ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยและในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว กล่าวคือทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทั้งหลายไปได้มาก อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ทรัพยากรธรรมชาติ และ การพัฒนาประเทศ เห็นได้ชัดจากพระราชกรณียกิจที่เผยแพร่สู่สายตาประชาชนตร
าบจนทุกวันนี้




  


ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ