ข้าพระพุทธเจ้าน้อมถวายพระพรชัย ขอพระเกียรติเกริกไกรทุกสถาน ดวงพระราชหฤทัยสุขสราญ "หมู่ภัยพาลแพ้พ่าย" ระบารมี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ


วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ - ๑๒ สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ

 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
๑๒ สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ
ทรงเป็นแม่ในดวงใจไทยทั้งชาติ


 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระราหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ขณะนั้น เป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร


หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้อง ทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ ไป รับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหม่อมหลวงบัว ยังคงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้ กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้วจึงเดินทางไป สมทบมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้ อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศา นุประพันธ์และ ท้าววนิดา พิจาริณี ผู้เป็นบิดาและ มารดาของหม่อมหลวงบัว

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต้องอยู่ห่างไกลพระบิดามารดาตั้งแต่อายุพียงน้อยนิด บางคราวต้องระหกระเหินไป ต่างจังหวัดกับพระบรมวงศานุวงศ์ตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไป สงขลาด้วย


ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ หม่อมจ้านักขัตรมงคล ทรงลาออกจากราชการ กลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว อันมีหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์บุตรคนโตและ หม่อมราชวงศ์บุษบาบุตรีคนเล็กผู้เกิดที่สหรัฐอเมริกาแล้วมารับหม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์บุตรคนรอง กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จากหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กลับมาอยู่รวมกันที่ตำหนักซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาดในพุทธศักราช ๒๔๗๙ แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมาถึงประเทศไทย จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศบ่อย ๆ ทำให้ การเดินทางไม่สะดวกและ ปลอดภัย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จึงต้องย้ายไป โรงเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ และ ในเวลาต่อมาได้ตั้งใจที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง


หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เผชิญสภาพของสงครามโลกเช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย พระบิดาผู้ ทรงเป็นทหารเป็นผู้ปลูกฝังให้ บุตร และ บุตรีรู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ และ ความเสียสละ โดยอาศัยเหตุการณ์ในสงครามเป็นตัวอย่าง และ สงครามก็ทำให้ ผู้คนต้องหันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยากสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความเมตตาต่อผู้อื่น และ รักความมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่เยาว์วัย

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ นายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นรัฐทูตวิสามัญและ อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึง ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไป ด้วยในกลางปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว



ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตั้งใจเรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่อยู่อังกฤษได้ไม่นานหม่อมเจ้านักขัตร มงคลก็ ทรงย้ายไป ประเทศเดนมาร์กและ ประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส

พุทธศักราช ๒๔๙๑ ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและ ครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไป ทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยต่อพระยุคลบาทและ ต้องพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมหลวงบัวพาบุตรีทั้งสง คือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และ หม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ในโรงเรียนประจำ Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และ ประวัติศาสตร์



ต่อมาอีก ๑ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและ ครอบครัวมาเฝ้าฯ แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล และ ประกอบพระราชพิธีหมั้นอย่างเงียบ ๆ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดา ทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนี เป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วคงให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไป จนเสด็จนิวัตพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และ เทพมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และ ในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินี

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” 


วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์ผู้รักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลแนะนำให้ ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง พุทธศักราช ๒๔๙๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน ทั้งสามพระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งต่อมา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งต่อมา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้ประสูติต่อมาตามลำดับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมพระราชโอรสและ พระราชธิดา ๔ พระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นลำดับมา ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยและในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว กล่าวคือทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทั้งหลายไปได้มาก อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ทรัพยากรธรรมชาติ และ การพัฒนาประเทศ เห็นได้ชัดจากพระราชกรณียกิจที่เผยแพร่สู่สายตาประชาชนตร
าบจนทุกวันนี้




  


ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ