ในหลวงพระราชทาน
ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา
ความหมายอันเป็นมงคลยิ่งของตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในมหามงคลวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานแฉลิมพระเกียรติ พร้อมทั้งขอพระราชทานชื่อพระราชพิธีและชื่องาน ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า
"พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ
๕ ธันวาคม ๒๕๕๔”
และชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติว่า
"งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔”
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ และจะจัดงานต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ ประกอบด้วยงานราชพิธี, รัฐพิธี, ศาสนพิธี และกิจกรรมเฉลิมฉลอง รวมทั้งเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประชาชนชาวไทย ร่วมจัดกิจกรรมหรือโครงการเฉลิมพระเกียรติโดยทั่วกัน
พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้จัดประกวดตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด ๖๓ คน จำนวน ๑๑๒ แบบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผลงานของนายศิริ หนูแดง ใช้เป็นตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับเงินรางวัล ๔ แสนบาท
(อ.ศิริ หนูแดง กับตราสัญลักษณ์ 84 พรรษา)
สำหรับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ แสดงถึงพระเกียรติคุณและพระบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนเอกลักษณ์ของชาติอย่างถูกต้อง ชัดเจน รวมทั้งแสดงถึงความภาคภูมิใจที่ชาวไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระปรีชาชาญยิ่ง และเกียรติคุณของชาติไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล
ความหมายตราสัญลักษณ์ ประกอบด้วย
อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองทอง อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ อยู่กลางตราสัญลักษณ์ ขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทอง
บนพื้นวงกลมสีน้ำเงิน ล้อมรอบด้วยกรอบโค้งเรียบสีเหลืองทอง หมายความว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ
ด้านบนอักษรพระปรมาภิไธยเป็นเลข ๙ หมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เลข ๙ นั้น อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช
ถัดลงมาด้านข้างซ้ายขวาของอักษรพระปรมาภิไธย มีลายพุ่มข้าวบิณฑ์สีทอง ซึ่งมีสัปตปฎลเศวตฉัตรประดิษฐานอยู่เบื้องบน ด้านนอกสุดเป็นกรอบโค้งมีลวดลายสีทองบนพื้นสีเขียว หมายถึงสีอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ อีกทั้งยังหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และความสงบร่มเย็น
ด้านล่างอักษรพระปรมาภิไธยเป็นรูปกระต่ายสีขาว กระต่ายนั้นทรงเครื่องอยู่ในลักษณะกำลังก้าวย่าง อันหมายถึง ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ตรงกับปีเถาะ ซึ่งมีกระต่ายเป็นเครื่องหมายแห่งปีนักษัตร โดยรูปกระต่ายอยู่บนพื้นสีน้ำเงิน มีลายกนกสีทอง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
เบื้องล่างตราสัญลักษณ์ เป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทอง เขียนอักษรสีทอง ความว่า พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔